ภาพการสาธิตฝูงโดรน 75 ลำ ประกอบด้วยโดรนพลีชีพของกองทัพอินเดีย โดยมีเป้าหมายสู่การพัฒนาฝูงโดรน 1000 ลำในอนาคต
ผู้บัญชาการ จอห์น เมอร์เรย์ หัวหน้ากองบัญชาการกองทัพ(Army Future Command)สหรัฐ ได้กล่าวกับผู้เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์จากศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ว่ามนุษย์อาจไม่สามารถเอาชนะภัยคุกคามจากฝูงโดรนได้ และกฎหมายเรื่องการให้มนุษย์ควบคุม AI ควรถูกยกเลิก
“คนต้องตัดสินใจให้ไวกว่าเพื่อเอาชนะในการรบกับฝูงโดรน แต่ผมไม่แน่ใจว่าเราจะไวพอ” เมอร์เรย์กล่าว “เราต้องการการตัดสินใจของคนมากขนาดไหนในการตัดสินใจเรื่องเล็กน้อย”
สิ่งนี้บ่งบอกถึงความจำเป็นที่จะต้องตีความกฎของเพนตากอนใหม่เกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์สังหาร หุ่นยนต์เหล่านี้ต้องการการควบคุมโดยมนุษย์สำหรับการตัดสินใจที่มีผลถึงชีวิตก็ตาม แต่การควบคุมควรอยู่ในบทบาทการกำกับดูแลมากกว่าการสั่งการโดยตรง
เมอร์เรย์กล่าวว่า ผู้นำเพนทากอนจำเป็นต้องจัดการประชุมเพื่อหารือกันในเรื่อง ความจำเป็นของมนุษย์ในการต้องกำกับและควบคุม AI เพื่อความปลอดภัยในขณะที่คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อต้องต่อกรกับภัยคุกคามใหม่อย่างฝูงโดรน เนื่องจากเหล่าฝูงโดรนทำงานโดยการโจมตีอย่างสอดคล้องกัน ทำให้มันสามารถจัดการเป้าหมายได้อย่างพร้อมเพรียง โดยมีการสาธิตการทำงานของฝูงโดรน 200-300 ลำไปแล้ว และคาดว่าจะได้เห็นฝูงโดรนมากกว่า 1000 ลำ อีกในอนาคต นอกจากนี้หนึ่งในโครงการของกองทัพเรือสหรัฐวางแผนที่จะรับมือกับฝูงโดรนกว่าล้านลำในเวลาเดียวกัน
กองทัพสหรัฐใช้เงินกว่าพันล้านเหรียญไปกับหุ่นยนต์ป้องกันภัยทางอากาศที่มีชื่อว่า IM-SHORAD ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ในรูปแบบของรถ ซึ่งมาพร้อมกับ ปืนใหญ่, มิสไซส์ 2 ชนิด, ระบบรบกวนสัญญาณ และ ระบบสกัดกั้นโดรน เนื่องจากการเลือกใช้อาวุธอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการต่อกรกับศัตรูจำนวนมาก ที่มักจะมาในรูปแบบของตัวล่อซึ่งทำให้ทหารทำงานหนักเกินไป เมอร์เรย์ ได้กล่าวอีกว่า บททดสอบการระบุเป้าหมายจะต้องระบุได้ถูกต้องมากกว่า 80% จึงจะผ่านมาตรฐานกองทัพ ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ซอฟท์แวร์ AI ล่าสุดส่งผลให้เปอร์เซ็นต์ความแม่นยำของการระบุเป้าหมายพุ่งสูงขึ้นถึง 98-99%
นักวิทยาศาสตร์พบว่ามนุษย์มักจะอยากเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจทุก ๆ ครั้งของหุ่นยนต์ และการพยายามทำเช่นนั้นลดประสิทธิภาพในการทำงานของหุ่นลง “การให้คนดูภาพของเป้าหมายทุกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจ และสั่งยิงนั้น ใช้เวลานานเกินไปสำหรับความเร็วปกติของหุ่นยนต์” นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าว “หากเราทำให้ความเร็วของ AI ลดลงมาเท่าความเร็วของมนุษย์ เราก็จะแพ้ในสงคราม”
ชัยชนะของ AI 5-0 แต้มเหนือนักบินมนุษย์ในการสู้รบเสมือนจริงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมายังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ แต่ไม่มีใครโต้แย้งในเรื่องความแม่นยำและความรวดเร็วของหุ่นยนต์ที่สามารถคิดและทำหลายสิ่งพร้อมกันในคราวเดียว โดยไม่มีความกลัวหรือความเหนื่อยล้าซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดขณะสู้รบ
ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกพยายามเข้าควบคุม AI และหลีกเลี่ยงการใช้มันในสนามรบเนื่องจากหุ่นยนต์ไม่มีความสามารถในการคิดและวิเคราะห์เชิงจริยธรรม โดยกลุ่มต่อต้านหุ่นยนต์สังหารและ EU เห็นด้วยกับฝ่ายนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา EU ได้ประกาศว่า “การตัดสินใจเลือกเป้าหมายและตัดสินใจโจมตีควรเกิดขึ้นโดยมีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมเท่านั้น” ซึ่งสรุปได้ว่าหุ่นยนต์สังหารเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สหรัฐมีมุมมองที่ต่างออกไป โดยคณะรัฐบาลได้ออกมากล่าวว่า AI มีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดน้อยกว่ามนุษย์ และสามารถระบุเป้าหมายได้แม่นยำกว่า ตามที่เมอร์เรย์ได้กล่าวไว้ข้างต้น
รองประธานคณะกรรมการ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม โรเบิร์ต เวิร์ค กล่าวว่า “มันจำเป็นอย่างมากที่จะทดสอบสมมติฐานเรื่องความแม่นยำในการระบุเป้าหมายของ AI ” และเขาได้แย้งว่าหุ่นยนต์สังหารจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบุเป้าหมายผิดพลาดลงได้
นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงในประเด็นข้างต้นอีกว่า หาก AI เข้าควบคุมอาวุธและสามารถเอาชนะหุ่นยนต์ที่มนุษย์เป็นผู้ควบคุมได้ หมายความว่าผู้ที่ใช้ AI จะเป็นผู้ชนะเสมอและผู้ที่ไม่ยอมปรับตัวคือฝ่ายที่ยอมรับความพ่ายแพ้
การโต้เถียงกันยังคงวนอยู่ในหัวข้อเหล่านี้ โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน และเมื่อมองจากอัตราการเติบโตและพัฒนาของเทคโนโลยีแล้ว ฝูงบินโดรนอาจถูกนำมาใช้ในสนาบรบก่อนที่จะได้ข้อสรุปทางด้านกฎหมาย แต่คำถามสำคัญคือ ประเทศไหนจะครอบครองกองทัพโดรนเป็นประเทศแรก
ที่มา: https://www.forbes.com/
แปลโดย: Pitsinee APS